สถานที่ใกล้เคียงรีสอร์ส LAZIKA KHAOKO
สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ได้แก่
สะพานแขวน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 3 กิโลเมตร บริเวณสองข้างทางจะตัดผ่านป่าตลอดเส้นทาง มีความร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อน แก่งวังน้ำเย็น ห่าง จากที่ทำการอุทยานฯ หนองแม่นาประมาณ 7 กิโลเมตร อยู่ระหว่างเส้นทางเดียวกับทุ่งโนนสน ระหว่างเส้นทางเดินสภาพป่าจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปจากทุ่งหญ้าสู่ป่าเต็งรังสลับด้วยป่าสนและป่าเบญจพรรณ ส่วนบริเวณป่าดิบชื้น
ทุ่งแสลงหลวง อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ หนองแม่นาประมาณ 25 กิโลเมตร เป็นทุ่งหญ้าแบบสะวันนา มีพื้นที่เป็นที่โล่งกว้างใหญ่ เนื้อที่ประมาณ 16 ตารางกิโลเมตร ตามเส้นทางจะตัดผ่านป่าเบญจพรรณจะพบสัตว์ป่าออกมาหากินตามข้างทาง และมีพันธุ์ไม้ดอกมากมาย นอกจากนี้ยังมีทุ่งหญ้าแบบสะวันนาสลับกับป่าสนสองใบ คือทุ่งหญ้าเมืองเลนและทุ่งโนนสน
ทุ่งนางพญา อยู่ทางทิศใต้ของที่ทำการอุทยานฯ หนองแม่นา ประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นทุ่งหญ้าแบบสะวันนา ล้อมรอบด้วยป่าสนเขาและป่าดิบเขา ตามกิ่งสนจะพบไม้ป่าที่หาชมได้ยาก คือ เอื้องชะนีและเอื้องคำปากไก่
ทุ่งโนนสน เป็นทุ่งหญ้าแบบสะวันนา สลับกับป่าสนเขา ตั้งอยู่ใจกลางอุทยานฯ บนยอดเขาโคกสน มีลักษณะคล้ายทุ่งแสลงหลวงและทุ่งนางพญา ในช่วงปลายฝนต้นหนาวจะมีดอกไม้หลายชนิดผลัดใบ เช่น ดอกดุสิตา เอื้องม้าวิ่ง กระดุมเงิน ยี่โถปีนัง หม้อข้าวหม้อแกงลิง ทุ่งนี้เหมาะแก่การเดินป่าซึ่งห่างจากที่ทำการอุทยานฯ หนองแม่นาประมาณ 31 กิโลเมตร การศึกษาประวัติศาสตร์บนเขาค้อ พร้อมกับซึมซาบความงดงามของภูมิประเทศ จะยิ่งทำให้การท่องเที่ยวบนเขาค้อมี คุณค่า และซาบซึ้งใจมากขึ้น เพราะบรรพบุรุษของเรา ได้ต่อสู้กับผู้ไม่หวังดีต่อชาติ จนได้รับชัยชนะ และทิ้งอนุสรณ์สำคัญไว้ที่นี่ ทำให้ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในอินโดจีน ที่ไม่ถูกกลืนเป็นคอมมิวนิสต์
สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบรูณ์
1. อนุสรณ์สถานผู้เสียสละ เขาค้อ อนุสาวรีย์ สำคัญที่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างรัฐบาล กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ที่ยึดพื้นที่บริเวณเขาค้อ เป็นฐานปฏิบัติการ ระหว่างปี 2511 - 2525 ซึ่งหลังจากการปฏิบัติการขั้นเด็ดขาดในปี 2524 ทำให้เกิดความสงบสุขกับเขาค้อในปีต่อมา และเป็นการสิ้นสุดของยุคคอมมิวนิสต์บนแผ่นดินไทย โดยสิ้นเชิง สมควรที่อนุชนรุ่นหลัง ควรได้ศึกษา และให้ความเคารพกับผู้เสียชีวิต ผู้เสียสละเพื่อแผ่นดิน ในยุทธการร่วมปราบปรามคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่นี้ ซึ่งประกอบด้วยชนทุกหมู่เหล่า ตำรวจ ทหาร ราษฎรอาสา |
||
2. พิพิธภัณฑ์อาวุธ ฐานอิทธิ พิพิธภัณฑ์อาวุธ (ฐานอิทธิ) ตั้งชื่อตาม พันเอก อิทธิ สิมารักษ์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ยึดพื้นที่เขาค้อคืนจาก ผกค.ในปี พ.ศ.2524 พิพิธภัณฑ์ ตั้งอยู่ส่วนบนก่อนถึงยอดเขาค้อ ซึ่งบริเวณนี้เคยเป็นฐานปืนใหญ่ ยิงสนับสนุนการ สู้รบ ปัจจุบันจัดให้ เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง มีอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ใช้ในการสู้รบตั้งอยู่มากมาย เช่น เครื่องบินขับไล่ เอฟ 5 รถสายพานลำเลียงพล ปืนใหญ่ ปืนใหญ่ขนาด 105 มม. จำนวน 2 กระบอก ปืนใหญ่ ขนาด 155 มม. ยิงได้ไกล 11 กิโลเมตร 1 กระบอก เฮลิคอปเตอร์ รถถัง รถแทรกเตอร์ บังเกอร์หลบภัย ฯลฯ แต่ละจุดมีป้ายประวัติ พร้อมคำอธิบายประกอบ เปิดเวลา 07.00 – 17.00 น. ค่าเข้าชม 10 บาท |
||
3. หอสมุดนานาชาติ ชื่อหอสมุดนานาชาติ มีที่มาจากการที่บรรดาทูตานุทูตต่างประเทศจำนวนมาก นำหนังสือมาบริจาคเก็บไว้ เพื่อให้คนไทยได้ศึกษา จึงเรียกกันว่า หอสมุดนานาชาติ นอกจากนี้ยังมีหนังสือวิชาการต่างๆ ของไทยอีกจำนวนมาก มีวัตถุโบราณร่วมสมัยที่หาชมได้ยากหลายรายการ รวมทั้งฟอสซิลปลาของเพชรบูรณ์ ที่มีอายุมากกว่า 140 ล้านปี ที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าซึ่งนำ มา จากประเทศศรีลังกา ซึ่งประเทศศรีลังกาได้นำมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสฉลอง สิริราชสมบัติครบ 50 ปี พร้อมกันต้นศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ถือเป็นเป็นสิ่งสักดิ์สิทธิ์ที่ควรแก่การมาสักการะบูชาเพื่อเป็นสิริมงคล ด้วย บริเวณรอบหอสมุด จัดตกแต่งเป็นอุทยานดอกไม้ ทั้งไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ยืนต้น นานาชนิด ทั้งไม้เมืองหนาว ไม้เมืองร้อน มีความสวยงาม นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมได้ตลอดทุกฤดูกาล ทั้งฤดูร้อน ฝน และหนาว โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่ไม้ดอกเมืองหนาวพากันออกดอก บานสะพรั่งเป็นที่สวยงามมาก ดอกไม้เด่นๆ ได้แก่ กุหลาบดำจากประเทศอิสราเอล ที่ความเข้มของสีดอกจะขึ้นกับอุณหภูมิ ยิ่งอากาศ ยิ่งอากาศเย็นมากดอกจะยิ่งมีสีดำมากขึ้น นอกจากนี้ยังจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ไม้ดอกนานาชนิดในราคาถูกอีกด้วย |
||
4. พระตำหนักเขาค้อ พระตำหนักเขาค้อ เป็นพระตำหนักที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ตั้งอยู่บนเขาย่า สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,100 เมตร จัดสร้างโดยบรรดาข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร และประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ภายหลังการต่อสู้ด้วยอาวุธกับ ผกค. สิ้นสุดลงแล้ว จึงได้รวบรวมทุนทรัพย์ ริเริ่มการก่อสร้าง พระตำหนักเขาค้อ ขึ้นเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ประชาชนในพื้นที่ และเป็นที่ทรงงาน และแปรพระราชฐานมาประทับแรม ในวโรกาสที่พระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จมาตรวจเยี่ยมโครงการตามพระราชดำริ ในพื้นที่เขาค้อ |
||
5. เจดีย์กาญจนาภิเษก พระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษก ตั้งอยู่บนเขาค้อ ริมทางหลวงหมายเลข 2196 อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเขาค้อไปทางทิศเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร จะเห็นพระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษก อยู่ติดถนนด้านขวามือ เป็นเจดีย์ที่มีสถาปัตยกรรมผสมผสานทั้งแบบสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปให้ประชาชนได้สักการะบูชา ยอดเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระอัฐธาตุของพระพุทธเจ้า ที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานให้กับประชาชนในพื้นที่ หลังจากยุติการสู้รบกับคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย การ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานไว้ ณ พื้นที่เขาค้อแห่งนี้ เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ในอดีตเคยเป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบ ระหว่างคนไทยด้วยกันเองมานาน จนทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต และเลือดเนื้อจำนวนมาก ยังเศร้าโศกเสียใจให้กับคนไทยทั้งชาติ และเมื่อการสู้รบยุติลง ความสงบสุขร่มเย็นก็เริ่มบังเกิดขึ้น ราษฎรในพื้นที่ได้รับการส่งเสริม ให้มีที่ทำกินเป็นของตนเอง มีการพัฒนาอาชีพทางการเกษตร ราษฏรในพื้นที่เขาค้อ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ มีรายได้เพียงพอต่อการครองชีพ และที่สำคัญราษฎรมีความรัก และหวงแหนในแผ่นดิน ที่แลกมาด้วยชีวิตเลือดเนื้อ และหยาดน้ำตาของทหารหาญและพี่น้องคนไทยจำนวนมาก |
||
6. น้ำตกศรีดิษฐ์ น้ำตกหินชั้นขนาดใหญ่ มีน้ำตกตลอดทั้งปี เดิมเคยเป็นที่อยู่ของกลุ่ม ผกค. เนื่องจากเป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ และอยู่ในป่าที่ค่อนข้างลึก เหมาะสำหรับการหลบซ่อนตัว กลุ่มผกค.จึงยึดเอาน้ำตกศรีดิษฐ์ เป็นที่อยู่ ที่กิน สำหรับการดำรงชีวิตในป่า ซึ่งยังปรากฎหลักฐาน และสิ่งของเครื่องใช้หลายอย่างของอยู่ในบริเวณน้ำตก เช่นครกตำข้าวขนาดใหญ่ที่ ผกค. สร้างขึ้นโดยใช้พลังน้ำตกช่วยเคลื่อนกังหันตำข้าว เป็นต้น บริเวณน้ำตก มีร้านอาหาร และร้านค้าของชาวเขา ซึ่งนักท่องเที่ยวมักใช้เป็นแหล่งพักผ่อน ทานอาหาร ปิคนิค และซื้อของที่ระลึกจากชาวเขา ซึ่งมีทั้งเสื้อผ้าจากหมู่บ้านชาวเขาโดยตรง หมวกไหมพรมกันหนาว ตลอดจนตุ๊กตา และของเล่นพื้นเมือง |
การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจากกรุงเทพฯ
เส้นทางที่ 1 ใช้ ทางหลวงหมายเลข 1 ถ.พหลโยธิน เส้นทางไปสระบุรี ==> เลี้ยวซ้ายเข้าทางเลี่ยงเมืองสระบุรี ==> ถึงสามแยกพุแคเบี่ยงขวา เข้าถนนสาย 21 มุ่งหน้าลพบุรี ใช้เส้นทาง ทางหลวงหมายเลข 21 ตลอดเส้นทางผ่านอ.ชัยบาดาล อ.ศรีเทพ อ.วิเชียรบุรี อ. บึงสามพัน อ.หนองไผ่ และ อ.เมือง มุ่งหน้าอ.หล่มสัก จนถึง สี่แยกพ่อขุนผาเมือง กม.261 ==>เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ ทางหลวงหมายเลข 12 มุ่งหน้าสู่จังหวัดพิษณุโลก ประมาณ 20 กม. จะถึงสามแยกแคมป์สน (เข้าเขาค้อ) ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2196 ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีแหล่งท่องเที่ยว และรีสอร์ทต่างๆบนเขาค้อตลอดเส้นทาง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง หรือ
เส้นทางที่ 2 ใช้ทางหลวงหมายเลข1 ถ.พหลโยธิน เส้นทางสระบุรี ==>เลี้ยวซ้ายเข้าทางเลี่ยงเมืองก่อนถึงสระบุรี มุ่งหน้าลพบุรี- เพชรบูรณ์ ทางหลวงหมายเลข 21 ผ่านอ.ต่างๆในจังหวัดลพบุรี จนถึงอ.เมือง เพชรบูรณ์ เลยอำเภอเมืองประมาณ 13 กิโลเมตร ถึงแยกนางั่ว เลี้ยวซ้ายเข้าถนนหมายเลข 2258 เส้นทางนางั่ว-เขาค้อ ผ่านจุดทดสอบเนินมหัศจรรย์ เส้นทางท่องเที่ยว และรีสอร์ทต่างๆ บนเขาค้อ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง หรือ
เส้นทางที่ 3 จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1ถนนพหลโยธิน มุ่งหน้าไปอยุธยา ==> ถึงอำเภอวังน้อยแล้วแยกเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท เข้านครสวรรค์ ==> แล้วใช้เส้นทางหมายเลข 117 ตรงเข้าจังหวัดพิษณุโลก จากนั้นใช้ทางหมายเลข 12 เส้นพิษณุโลก-หล่มสัก ถึงกม.ที่ 331 (100) สามแยกแคมป์สน ==> เลี้ยวขวาเข้าเขาค้อตามเส้นทางหมายเลข 2196 รวมระยะทาง 547 กิโลเมตร ใชเวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง
เส้นทางขี่จักรยาน
เส้นทางขี่จักรยานที่อุทยานแห่งชาติ ทุ่งแสลงหลวง ถูกจัดให้เป็นเส้นทางขี่จักรยานที่ดีที่สุดสายหนึ่งของการท่องเที่ยวใน ประเทศไทย และได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน UNSEEN THAILAND เมื่อปี 2547 เพราะเป็นเส้นทางที่มีครบรสชาติ ทั้งทุ่งหญ้า ป่าสน เนินเขา จนถึง ลำธาร ระหว่างทางจะได้ชมกับไม้นานาพันธุ์ โดยเฉพาะดอกไม้ป่าเล็กๆ ริมทาง และหากได้เริ่มปั่นกันแต่เช้าแล้ว จะเป็นการขี่จักรยานกันในสายหมอกทีเดียว
ทุ่งแสลงหลวง มีเส้นทางขี่จักรยานอยู่ 2 เส้นทางหลัก คือ เส้นอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง-ทุ่งนางพญา ระยะทางประมาณ 10 กม. และ เส้นทางแก่งวังน้ำเย็น ระยะทางประมาณ15 กม. ทุ่งแสลงหลวง ที่ทำการ หน่วยหนองแม่นาตั้งอยู่ริมทุ่งหญ้าสะวันนานพื้นที่กว้างขวาง มีทิวเขาโอบล้อม มีบ้านพักรับรองของอุทยานฯให้บริการ มีลานกางเต็นท์สำหรับการตั้งแค้มป์พักแรม ซึ่งค่อนข้างสะดวกสบาย ทางอุทยานฯจัดเตรียมลานกางเต็นท์ และห้องน้ำ ไว้ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถนำรถยนต์เข้าไปจอดถึงจุดตั้งแค้มป์ริมทุ่งหญ้าได้เลย เส้นทางสำหรับการปั่นจักรยานบนเขาค้อ เป็นเส้นทางที่ค่อนข้างโลดโผน และใช้พละกำลังอย่างมาก เป็นเส้นทางสำหรับนักปั่นน่องเหล็กโดยตรง เนื่องจากพื้นที่่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขาสลับซับซ้อน มีระดับสูงต่ำ ขึ้น-ลง เนินอยู่ตลอดเวลา ทำให้ต้องใช้แรงค่อนข้างมาก จึงมักถูกใช้เป็นเวทีการแข่งขันสำหรับมืออาชีพ สำหรับเส้นทางโดยทั่วไป อาจเริ่มต้นจากตัวจังหวัดเพชรบูรณ์ หรือบริเวณบ้านนางั่ว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นก่อนขึ้นเขาค้อ มุ่งตรงขึ้นเขาค้อด้วยระยะทางประมาณ 20-30 กม. โดยมีจุดหมายอยู่บริเวณจุดชมวิวทะเลหมอก หน้าที่ว่าการอำเภอเขาค้อ หรืออาจจัดย่อยเป็นเส้นทางสายท่องเที่ยว โดยเริ่มจากจุดชมวิวเขาค้อ ขี่ชมวิวไปยังบริเวณอ่างเก็บน้ำรัตนัย และย้อนกลับขึ้นมายังบริเวณจุดชมวิวจุดเดิม ซึ่งจะมีระยะทางชันมากประมาณ 2-3 กม. ส่วนที่เหลือเป็นทางลาดเอียงที่มีความชันน้อย